วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พระอุรุเวลกัสสปเถระและพระกาฬุทายีเถระ12

204

พระอุรุเวลกัสสปเถระ

            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า พระอุรุเวลกัสสปเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีบริวารมาก พระอุรุเวลกัสสปเถระมีบริวารมากเสมอเป็นนิตย มีพระสมณพันหนึ่งกับด้วยน้องชายของท่านอีกสององค์ เป็นบริวารแวดล้อมอยู่เป็นนิตย์ นามชื่อว่า กัสสป นั้นเนื่องจากท่านเกิดในกัสสปโคตร และนามว่า อุรุเวล นั้น เพราะเหตุว่าท่านได้บรรพชาในอุรุเวลประเทศ
            จับเดิมตั้งแต่มุลปณิธิ แกปรารถนาสาวกโพธิญาณตราบเท่าได้สำเร็จพระอรหัต ตั้งอยู่ในอสีติมหาสาวก ดำรงอยู่ในเอตทัคคฐานที่อันเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างบริวารมาก และเข้าสู่อมตนิพพานเป็นที่สุด
            ในกาลเมื่อศาสนาแห่งพระปทุมุตรพุทธเจ้า พระอุรุเวลกัสสปท่านได้มาปฎิสนธิในเรือนแห่งตระกูลในหงสาวดี ครั้นเจริญวัย และได้สดับพระสัทธรรมเทศนา แห่งพระผู้มีพระภาค ได้เห็นพระผู้มีพระภาคทรงตั้งพระภิกษุรูปหนึ่งไว้ในอัครฐาน ที่อันเลิศกว่าภิกษุบรรดามีบริวารมาก จึงมาดำริว่า แม้ตัวเรานี้สืบไปในอนาคต ก็ควรเพื่อจะได้เป็นปานดังภิกษุนี้บ้าง คิดแล้วจึงถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานสิ้นกาลเจ็ดวัน แล้วยังพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ให้นุ่งห่มด้วยไตรจีวรแล้ว ก็ปรารถนาในที่อัครฐารที่อันเลิศกว่าภิกษุทั้งปวง ฝ่ายข้างพระผู้มีพระภาคทรงเห็นว่าความปรารถนานั้น จะสำเร็จหาอันตรายมิได้ จึงทรงพยากรณ์ว่า ท่านจะได้เห็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีบริวารมาก ในพระศาสนาแห่งพระโคดมพุทธเจ้าในอนาคตกาล ตรัสพยากรณ์แล้วก็เสด็จหลีกไป
            ฝ่ายกุลบุตรนั้น ครั้นกระทำการกุศลตราบจนสิ้นชนม์ชีพแล้ว และได้เวียนว่ายอยู่ในเทวคติ และมนุษยคติสิ้นกาลช้านาน และมาในที่สุดแห่งเก้าสิบสองกัปนั้น ก็ได้มาบังเกิดเป็นพระกนิษฐอนุชาน้องชายต่างมารดาแห่งพระปุสสพุทธเจ้า พระราชบิดาทรงพระนามว่า พระเจ้ามหินทรราช พระกนิษฐาน้องชายพระราชบุตรมีอีกสององค์ พระราชบุตรทั้งสามองค์พี่น้องต่างองค์ก็ได้ที่ฐานันดรศักดิ์ต่าง ๆ กัน
            พระราชบุตรทั้งสาม เมื่อได้รับพระราชทานพรจากพระราชบิดาในกาลเมื่อยกไประงับปัจจันตชนบทดุจนัยที่กล่าวมาแล้ว ในรัฎฐปาลสูตร ก็รับพระพรว่า จะปฎิกบัติพระพุทธเจ้าให้ถ้วนสามเดือน เมื่อออกพระวัสสาแล้วจึงกระทำการบูชาพระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานด้วยสรรพเครื่องสักการบูชา กับทั้งจตุปัจจัยทั้งสี่ประการ แล้วก็ได้อุตสาห์บำเพ็ญกุศลตราบเท่ากำหนดชนมายุสังขารแล้วได้ไปบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ก่อนแต่กาลอันบังเกิดของพระพุทธเจ้าแห่งเรานี้ ชนทั้งสามนั้นก็ได้นามว่า กัสสปตามโคตรแห่งตน เมื่อเจริญวัยก็ได้เล่าเรียนคัมภีร์ไตรเพททั้งสามประการ พี่ชายใหญ่มีมานพ ๕๐๐ เป็นบริวาร น้องชายคนกลาง มีมานพเป็นบริวาร ๓๐๐ น้องชายผู้น้อยมีมานพเป็นบริวาร ๒๐๐ ชนทั้งสามเมื่อมาพิจารณาดูแก่นสาระในคัมภีร์ไตรเพทของตน ก็เห็นแต่แก่นสาร ซึ่งประกอบด้วย ประโยชน์คุณในโลกปัจจุบัน หาได้เห็นแก่นสารซึ่งประกอบด้วยประโยชน์คุณในสัมปรายภพภายหน้าไม่
            ลำดับนั้น พี่ชายผู้ใหญ่ก็ไปยังอุรุเวลประเทศ พร้อมด้วยบริวาร บรรพชาเป็นดาบส บังเกิดนามว่า อุรุเวลกัสสป ฝ่ายน้องชายคนกลาง ก็ไปบรรพชาเป็นดาบสอยู่แทบฝั่งคงคา เนรัญชรานที พร้อมบริวารบังเกิดนามว่า นทีกัสสป น้องชายผู้น้อยก็พาบริวารไปบรรพชาเป็นดาบสอยู่ในคยาสีสประเทศ อันมีสันฐานดุจศีรษะแห่งช้าง บังเกิดนามว่า คยากัสสป
            ปัญหากรรมของนทีกัสสปะ แรกเริ่มสร้างบารมีปรารถนาสาวกโพธิญาณ ได้บำเพ็ญทานในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายแต่ในกาลก่อน เมื่อสันนิจยาการก่อสร้างกุศลสมภารบารมี ที่เป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพานในภพทั้งหลายนั้น ๆ ครั้นมาในกาลศาสนาแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า นทีกัสสปได้บังเกิดในเรือนแห่งตระกูล อันสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สมบัติมาก ครั้นเจริญวัยจำความได้แล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวทรงบิณฑบาตอยู่ก็มีจิตเลื่อมใส จึงถวายผลมะม่วงผลหนึ่งมีสีดังหรดาลทอง เป็นผลแรกบังเกิดใหม่ กุลบุตรนั้นเมื่อท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลกด้วยผลแห่งอัมพทานนั้นสิ้นกาลช้านาน ครั้นมาในพระศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้ ก็ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในมคธราษฐ เป็นน้องชายกลาางของอุรุเวลกัสสป ครั้นเจริญวัยแล้ว ก็มิได้ปรารถนาการฆราวาส เหตุมีอัชฌาสัยเพื่อจะยกตนออกจากภพ จึงออกบรรพชาเป็นดาบสพร้อมบริวาร ๓๐๐ สร้างบรรณศาลาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรานที มีนามว่า นทีกัสสป เหตุอยู่ใกล้ฝั่งนที
            ปัญหากรรมของคยากัสสป น้องชายผู้น้อยอันได้บำเพ็ญบารมีมาทีแรกปรารถนาสาวกภูมิในสำนักพระพุทธเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนแล้ว ครั้นมาในกาลเมื่อครั้งพระพุทธศาสนาแห่งพระสีขีพุทธเจ้า ได้มาอุบัติใน ๓๑ กัป นับถอยหลังแห่งภัททกัปนี้ คยากัสสปได้มาบังเกิดในเรือนแห่งตระกูลอันบริบูรณ์ด้วยสมบัติ ครั้นเจริญวัยแล้วก็สละการฆราวาส ยังตนให้ประพฤติเป็นไปด้วยรากไม้และผลไม้ในราวป่า ในกาลครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จไปในที่ใกล้อาศรมของดาบสนั้น ฝ่ายดาบสเมื่อเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มีจิตเลื่อมใส เข้าไปถวายนมัสการแล้วถวายผลลูกกระเบาที่มีรสอันอร่อย ด้วยบุญกรรมกองกุศลแห่งผลทานนั้นอำนวยผล ดาบสนั้นเมื่อเวียนวนอยู่ในเทวสถานและมนุสสคติสิ้นกาลช้านานแล้ว ครั้นมาในพระพุทธศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าของเรานี้ ก็ได้มาบังเกิดในตระกูลหนึ่งในแคว้นมคธราษฐ์ เป็นน้องชายผู้น้อยแห่งอุรุเวลกัสสป ครั้นเจริญวัยก็สละการฆราวาสเหตุว่ามีอัชฌาสัยเพื่อจะใคร่รื้อตนออกจากภพ จึงออกบรรพชาเป็นดาบสอยู่ใกล้ฝั่งคงคากับบริวาร ๒๐๐ คน เพราะเหตุอยู่ใกล้ฝั่งคงคาในคยาสัสประเทศ และเหตุที่เกิดในกัสสปโคตร จึงบังเกิดนามว่า คยากัสสป
            เมื่อกัสสปสามพี่น้อง ออกพบรรพชาเป็นดาบสแล้ว และอยู่ในที่นั้นเวลาล่วงไปเป็นอันมาก พระบรมโพธิสัตว์แห่งเราจึงเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ กระทำทุกกรกิริยามหาปธานวิริยภาพอันยิ่งใหญ่ล่วงไปได้หกพระวัสสา ได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสมโพธิญาณแล้ว เสด็จไปโปรดประทาน พระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคียในราวป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ยังพระปัญจวัคคียทั้งห้าให้ดำรงอยู่ในพระอรหัตแล้ว พระองค์ก็ทรงแนะนำชนอันเป็นสหายกัน ๕๕ คน มียสกุมารเป็นประธาน แล้วพระองค์ก็ส่งพระอรหันต์ทั้ง ๖๐ องค์นั้นให้เที่ยวไปโปรดเวไนยสรรพสัตว์ทั้งปวง จึงมีพระพุทธฎีการตรัสว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งปวงจงเที่ยวจาริกไป เพื่อจะให้เป็นประโยชนแก่ชนเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็ทรงแนะนำกุมาร ๓๐ องค์ให้ดำรงอยู่ในมรรคและผล
            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเห็นอุปนิสัยอุรุเวลกัสสปดาบส ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ในกาลเมื่อตถาคตไปในที่นั้นแล้ว ชฎิลดาบสทั้งสามพี่น้องกับบริวารก็จะบรรลุพระอรหัตตผล พระพุทธองค์จึงเสด็จไปสู่ที่อยู่ของอุรุเวลกัสสป แล้วพระองค์ทรงขอศาลาโรงไฟเพื่อจะเป็นที่เสด็จอยู่สำนัก ทรงทรมานพระยานาคในโรงไฟให้เป็นเดิมแล้ว ก็ทรงแนะนำสั่งสอนอุรุเวลกัสสปดาบสด้วยพระปาฎิหารย์ ๓๕๐๐ ยังอุรุเวลกัสสปดาบสให้บรรพชาในพระศาสนา ส่วนดาบสผู้น้องทั้งสองนั้น ครั้นรู้ว่าพระอุรุเวลกัสสปเถระผู้เป็นพี่ชายได้บรรพชาในพระศาสนาแล้ว ก็พากันมาพร้อมด้วยบริวารบรรพชาในสำนักพระบรมศาสดา และชฎิลทั้งปวงนั้นได้เอหิภิกขุบรรพชาแล้ว ก็ทรงไว้ซึ่งบาตรและจีวรอันแล้วด้วยฤทธิ์
            พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาภิกษุพันหนึ่งนั้นไปสู่คยาสัสประเทศ ทรงนั่งเหนือแผ่นศิลาแล้วทรงเล็งแลดูว่าพระธรรมเทศนาอันใดจะเป็นที่สบายแก่ภิกษุทั้งปวงนี้ พระองค์ก็ทรงกำหนดในพระทัยว่า ภิกษุทั้งปวงนี้ย่อมกองกูณฑ์พิธีบูชาเพลิงแล้วและบรรพชา กิริยาที่ตถาคตกระทำซึ่งภพทั้งสามให้เป็นเช่นกับเรือนอันเพลิงไหม้ ลุกรุ่งเรืองแล้วและแสดงให้ปรากฎแก่ภิกษุทั้งปวงนี้เถิดจึงจะสมควร ครั้นทรงกำหนดเช่นนี้ แล้วก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร โดยนัยเป็นอาทิว่า อายตนภายในหกประการ ภายนอกหกประการ อันเพลิงกล่าวคือ ราคะ โทสะ โมหะ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสก ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปยาส หากเผาผลาญลุกรุ่งเรืองอยู่ จับเดิมแต่ปฎิสนธิมา ครั้นจบพระธรรมเทศนา ภิกษุทั้งปวงหนึ่งพันนันพันหนึ่งนั้น ก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วยพระปฎิสัมภิทาญาณทั้งสี่ประการ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าแวดล้อมด้วยพระอรหันต์พันหนึ่ง จึงเสด็จไปสู่ลัฎฐิวันอุทยาน ในกรุงราชคฤห์เพื่อพุทธประสงค์จะทรงเปลื้องเสียซึ่งปฎิญาณแห่งพระเจ้าพิมพิสาร
พระเจ้าพิมพิสาร ครั้นทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว พระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดากับด้วยพราหมณ์และคฤหบดีทั้งปวงประมาณ ๑๒ หมื่น พระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรดูหมู่บริษัททั้งปวงนั้นทรงเห็นว่า มหาชนทั้งปวงกระทำความเคารพยำเกรงนบนอบแต่พระอุรุเวลกัสสปเถระอยู่ พระองค์จึงทรงพระพุทธดำริว่า บริษัททั้งปวงนี้ยังหารู้ว่าพระตถาคตนี้เป็นใหญ่หรือว่าอุรุเวลกัสสปเป็นใหญ่ ทรงพระพุทธดำริดังนี้แล้วจึงให้สัญญาแก่พระอุรุเวลกัสสปเถระว่า ดูกรกัสสป ท่านจงตัดเสียซึ่งความวิตกแห่งอุปัฎฐากของท่านเถิด
            พระอุรุเวลกัสสปเถระรับพระพุทธฎีกาแล้ว ก็ลุกจากอาสนะถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว ก็เหาะขึ้นไปยังเวหาสู่ประเทศสูงประมาณชั่วลำตาล แล้วแสดงอิธิวิกุพพนฤทธิ์กระทำให้เป็นไปต่าง ๆ แล้วจึงมีวาจาประกาศว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์เป็นบรมครูแห่งเกล้ากระหม่อมฉัน ๆ เป็นสาวกของพระองค์ พระองค์เป็นพระบรมศาสดาแห่งข้าพระบาท ๆ เป็นสาวกแห่งพระองค์ เมื่อกล่าววาจาเช่นนี้แล้วก็ลงมาจากห้องเวหาถวายอภิวาทพระบาทยุคลพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เหาะขึ้นไปอีกสูงชั่วสองลำตาล แต่เหาะขึ้นไปด้วยอุบายอย่างนี้ทวีขึ้นไป ๓,๔,๕,๖,๗ ชั่วลำตาลเจ็ดครั้งแล้วกลับลงมาถวายนมัสการพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วนั่งอยู่ ณ ที่อันควร บรรดามหาชนทั้งปวงก็หายวิตกสิ้นความสงสัยในพระบรมศาสดาว่า พระบรมศาสดานี้เป็นพระมหาสมณประเสริฐในโลกนี้แล้ว
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาแก่มหาชนทั้งปวง ครั้นจบพระสัทธรรมเทศนาแล้ว พระเจ้าพิมพิสารกับพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลายประมาณสิบหมื่น ก็ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลอันพิเศษในพระพุทธศาสนา ยังชนบริษัทหนึ่งหมื่นนั้นให้ดำรงอยู่ในพระตรัยสรณาคมน์ปฎิญาณตนว่า เป็นอุบาสกเข้าไปใกล้เสพซึ่งพระรัตนตรัย ฝ่ายภิกษุทั้งหลายประมาณพันหนึ่งซึ่งเป็นบริวารพระอุรุเวลกัสสปเถระ ก็พากันเป็นบริวารแวดล้อมพระอุรุเวลกัสสปเถระ ส้ำภิกษุทั้งหลายนั้นเป็นพระอรหันต์แต่ละองค์ ๆ ย่อมมีศิษย์องค์หนึ่ง ๆ เป็นสองพัน กับทั้งอาจารย์ลูกศิษย์พันองค์นั้น แต่ละองค์มีลูกศิษย์อีกองค์หนึ่ง รวมเป็นสามพันด้วยกัน
            ในสมัยต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน พระองค์จึงทรงตั้งพระอุรุเวลกัสสปเถระไว้ในอัครฐานที่อันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างมีบริวารมาก ฝ่ายว่าพระมหาเถระสามองค์พี่น้อง เมื่อดำรงชนมายุสังขารอยู่ถ้วนกาลกำหนดแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน ปัจจัยคือ ตัณหา และอุปาทานซึ่งจะเป็นเชื้อเพลิงอยู่นั้นหามิได้ มีอุปมาดุจเปลวประทีปอันสิ้นใส้และน้ำมันแล้วดับไป ฉะนั้น

 

พระกาฬุทายีเถระ

                                พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องพระกาฬทายีเถระไว้ในอัครฐานอันเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างยังตระกูลให้มีความเลื่อมใส พระมหาเถระยังชนทั้งหลายบรรดาที่อยู่ในพระราชนิเวศน์แห่งพระเจ้าสิริสุทโธทนะผู้เป็นพระพุทธบิดา บรรดาที่ยังมิได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าให้มีความประสาทศรัทธาเลื่อมใส
            ในปัญหากรรมแห่งพระมหาเถระอันริเริ่มแรกปรารถนาบำเพ็ญบุญญาภินิหาร ปรารถนาสาวกภูมิโพธิญาณตราบเท่าได้เสร็จแก่สาวกบารมีญาณ เดิมทีกาลเมื่อศาสนาแห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ท่านได้บังเกิดในเรือนแห่งตระกูลในหงสาวดีนคร เมื่อได้สดับพระสัทธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตรพระพุทธเจ้า และได้เห็นพระบรมศาสดาทรงประทานที่ฐานันดรอันเลิศฝ่ายข้างยังตระกูลให้เลื่อมใสนั้นแก่ภิกษุรูปหนึ่ง จึงอุตสาห์บำเพ็ญอธิการกุศลอันยิ่งแล้วก็ปรารถนาซึ่งที่ฐานันดรนั้น ครั้นอุตสาห์บำเพ็ญการกุศลตราบเท่าสิ้นพระชนมายุแล้ว เมื่อท่องเที่ยวอยู่ในเทวคติและมนุษยคติสิ้นกาลช้านานในวันพระบรมโพธิสัตว์ของเรา เสด็จลงสู่ปฎิสนธิในคัพโภทรแห่งชนนีนั้น กลุบุตรผู้นั้นก็คลอดออกจากครรภ์มารดาพร้อมกันกับพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
            ในเพลานั้น ราชบุตรทั้งหลายก็ไปนำเอาทารกผู้นั้นเพื่อประโยชน์จะให้เป็นข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แห่งพระบรมโพธิสัตว์ ความจริงในวันเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ประสูตินั้นชื่อว่า สหชาติธรรมทั้งหลายที่บังเกิดนั้นเจ็ดประการคือ ไม้พระมหาโพธิ ๑ พระพิมพามารดาพระราหุล ๑ ขุมทองทั้งสี่ ๑ ช้างพระที่นั่งทรง ๑ ม้ากัณฐกัศวราช ๑ นายฉันนามาตย ๑ กาฬุทายีอำมาตย์ ๑ ในวันอันจะให้นามแก่ทารกบุตรอำมาตย์นั้น ชนทั้งหลายจึงให้นามว่า อุทายีกุมาร เหตุว่าในวันอันกุมารบังเกิดนั้น ชนชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตสูงขึ้นด้วยปิตี และอุทายีกุมารนั้นมีกายจะดำอยู่สักหน่อยหนึ่ง จึงบังเกิดนามว่า กาฬุทายี กาฬุทายีกุมารได้เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันมากับพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
            ในกาลต่อมา พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเสด็จออกสู่พระมหาภิเนษกรมณ์ บรรพชาได้บรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว ตรัสเทศนาพระธรรมจักกัปปวัตนสูตรเสร็จแล้ว และเสด็จเที่ยวไปโปรดเวไนยสัตว์อยู่โดยอนุกรมลำดับ แล้วเสด็จไปจำพระวัสสาอยู่ในกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นพระเจ้าสุทโธทนพุทธชนกาธิบดีทรงทราบว่า พระสิทธัตถราชกุมารอัครปิโยรสได้เสร็จแก่พระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จประทับอยู่ในพระเวฬุวนาราม อาศัยกรุงราชคฤห์เป็นที่โคจรสถาน จึงมีพระราชโองการดำรัสให้อำมาตย์ผู้หนึ่งกับบริวารพันหนึ่ง ไปยังสำนักพระบรมศาสดาว่าท่านจงไปพาพระราชโอรสของเรามาในที่นี้ อำมาตย์ผู้นั้นครั้นไปสิ้นมรรคา ๖๐ โยชน์แล้ว จึงพาพวกบริษัทไปสู่พระวิหารในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับอยู่ท่ามกลางบริษัท ตรัสโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาอยู่ อำมาตย์ผู้นั้นก็นั่งฟังพระสัทธรรมเทศนาก็ได้บรรลุถึงพระอรหัตกับด้วยบริวารของตน
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเหยียดพระหัตถ์ตรัสเรียกว่า ภิกษุทั้งหลาย จงมาเถิดมาประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาแห่งตถาคตเถิด ขณะนั้นอำมาตย์กับบริวารทั้งปวงก็ได้ทรงไว้ซึ่งไตรจีวรบาตรบริขารอันแล้วด้วยฤทธิ์ จำเดิมแต่ได้สำเร็จพระอรหัตแล้วก็ได้นามว่าเป็นพระอริย มีสันดานอันมัธยัสถ์เป็นอุเบกขา มิได้เหลียวแลเอื้อเฟิ้อในสัตว์ และสังขาร เพิกเฉยอยู่ จะได้กราบทูลประพฤติข่าวสารที่พระเจ้าสุทโธทนส่งมานั้นหามิได้ ส่วนพระเจ้าสุทโธทนจึงทรงพระรำพึงว่า พระราชโอรสของเราไม่เสด็จมาเลย พระองค์จึงส่งอำมาตย์คนอื่นไปอีก อำมาตย์ผู้นั้นครั้นไปถึงแล้วได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตกับด้วยบริษัทของตน และก็พากันเพิกเฉยนิ่งเสียสิ้นดุจในหนหลัง พระเจ้าสุทโธทนทรงใช้ให้อำมาตย์กับบริวารไปทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ถึงเก้าครั้ง อำมาตย์ทั้งปวงนั้นครั้นสำเร็จประโยชน์แห่งตนแล้ว ก็พากันนิ่งเฉยเสียสิ้นไม่มีผู้ใดจะกราบทูลอาราธนาเลย
            ลำดับนั้ย พระเจ้าสุทโธทนทรงพระรำพึงว่า บุคคลผู้อื่นไปไม่อาจจะพาเสด็จพระบวรโอรสาธิราชแห่งเรามาได้ เห็นแต่กาฬุทายีบุตรอำมาตย์ผู้เดียวนี้ ได้เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันมากับพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็เกิดวันเดียวกันเห็นจะมีเสน่หาอาลัย จงรักภักดีต่อเราอยู่บ้าง จึงมีรับสั่งให้หากาฬุทายีอำมาตย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสว่าท่านจงนำบริวารไปสักพันหนึ่ง แล้วจงพาเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามาให้จงได้ กาฬุทายีอำมาตย์รับพระราชโองการแล้วกราบทูลว่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันจะพึงได้บรรพชาเช่นบุรุษทั้งหลายที่ไปก่อนนั้น กระหม่อมฉันจะรับอาสาพาสมเด็จพระบรมศาสดามายังสำนักพระองค์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนจึงตรัสว่า เมื่อท่านจะบรรพชาหรือว่าจะกระทำเป็นประการใดก็สุดแท้แต่อัชฌาสัยเถิด
            กาฬุทายีอำมาตย์ จึงนำเอาพระราชสารพระเจ้าสุทโธทนไปสู่กรุงราชคฤห์ไปยืนอยู่ในที่สุดแห่งบริษัท ในเวลาแห่งพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่นั้น พลอยได้รับรสพระสัทธรรมเทศนาได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว ก็ได้ดำรงอยู่ในความเป็นเอหิภิกขุภาพ ท่านจึงดำริว่าอันจะเสด็จไปสู่พระนคร แห่งตระกูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น บัดนี้ยังไม่ควรก่อน ต่อวสันตฤดูกาลในราวป่ามีดอกบุบผาชาติอันงามควรจะเป็นที่ทัศนานำมาซึ่งความยินดี พื้นปฐพีนั้นปราศจากเปือกตมดาดาษไปด้วยหญ้าแพรกอันงอกงาม กาลนั้นสมควรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จไป  ดำริดังนี้แล้วก็คอยกำหนดนับกาลวันอันควรอยู่ ครั้นย่างเข้ามาในเหมันฤดูแล้ว ท่านจึงกราบทูลพรรณามรคาวิถีที่จะเชิญ พระผู้มีพระภาคเจ้าให้คืนพระนครด้วยพระคาถา ๖๐ พระคาถา
        พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กาฬุกายีภิกษุนี้มาพรรณาหนทางเพื่อจะให้ตถาคตเสด็จไป เทศกาลฤดูนี้สมควรที่ตถาคตจะเสด็จไปสู่นครกบิลพัสดุ์แล้ว ทรงกำหนดเช่นนี้แล้วก็มีพระขีณาสพสงฆ์สองหมื่น เป็นยศบริวารเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์ ทรงพุทธจาริกไปด้วยอตุริตคมนาการค่อย ๆ เสด็จไป ประทับแรมมรคาแต่วันละโยชน์ โปรดมหาชนชาวบ้านนอกขอบชนบทตามมรรคา เสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์
            ส่วนพระกาฬุทายีเถระ ครั้นรู้ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกแล้ว ท่านจึงดำริว่าควรที่ตนจะรีบไปให้สัญญาแก่พระเจ้าสุทโธทนให้ทรงทราบก่อน ดำริแล้วจึงเหาะขึ้นสู่ห้องเวหาด้วยฤทธิ์ไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ลอยอยู่ในพื้นนภากาศในราชฐานบันดาลกายให้ปรากฎแก่พระเจ้าสุทโธทน พระเจ้าสุทโธทนทอดพระเนตรเห็นเพศอันไม่เคยเห็นก็ทรงจำไม่ได้ถนัด จึงตรัสถามว่าท่านนี้เป็นอะไรมาแต่ไหน พระกาฬุทายีเถระจึงถวายพระพรตอบว่า ขอถวายพระพรบรมบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ พระองค์ไม่ทรงรู้จักอาตมภาพผู้เป็นบุตรอำมาตย์ที่พระราชสมภารส่งไปยังสำนักพระบรมศาสดานั้นดอกหรือ บรมบพิตรจงทรงทราบพระญาณด้วยประการฉะนี้เถิด ท่านถวายพระพรแล้วเมื่อจะแสดงความให้ทรงทราบ จึงกล่าวเป็นบาทพระคาถาว่า อาตมภาพนี้เป็นโอรสแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระราชสมภารเจ้านี้ได้เป็นพระพุทธบิดาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นพระบรมบิดาของอาตมภาพโดยธรรม พระกาฬุทายีเถระเมื่อกล่าวคำเป็นต้นว่า อาตมภาพได้เป็นโอรสแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนี้แล้ว ท่านก็กล่าวแก้ซึ่งพระอรหัตตผล แก่พระสุทโธทน ทำให้พระองค์ทรงพระโสมนัสยินดียิ่งนัก จึงอาราธนาท่านให้นั่งเหนือราชบัลลังก์ ยังบาตรของท่านให้เต็มด้วยรสโภชนียาหารมีรสเลิศต่าง ๆ ส่วนพระมหาเถระจึงลอยออกจากอาสนะแสดงกิริยาที่จะไป พระองค์จึงอาราธนาว่าท่านจงนั่งฉันในที่นี้เถิด พระมหาเถระจึงถวายพระพรว่า อาตมภาพจะไปฉันในสำนักพระบรมศาสดา พระองค์จึงถามว่าบัดนี้พระบรมศาสดาอยู่ ณ ฐานที่ใด พระมหาเถระถวายพระพรว่า บัดนี้พระบรมศาสดามีพระภิกษุสองหมื่นเป็นบริวาร เสด็จพุทธดำเนินมาตามมรคาปรารถนาจะมาเยือนพระราชสมภารเจ้า พระองค์จึงตรัสว่าท่านฉันอาหารบิณฑบาตนี้เสียเถิด พระราชโอรสของเรายังไม่มาถึงพระนครนี้ตราบใด ท่านก็จงนำเอาอาหารบิณฑบาตไปแต่ที่นี้แล้ว จงถวายแก่พระบรมศาสดาตราบนั้นเถิด พระมหาเถระก็กระทำภัตตกิจฉันจังหัน ครั้นแล้วก็แสดงธรรมเทศนาแก่พระพุทธบิดาและราชบริษัททั้งปวง ครั้นแล้วท่านก็ถือภัตตาหารที่ควรจะพึงนำเอาไปถวายแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระมหาเถระจะกระทำให้มหาชนในพระราชนิเวศน์ทั้งสิ้น ให้มีความเลื่อมใสได้ซึ่งศรัทธาในคุณพระรัตนตรัยด้วยกิริยาที่ยังไม่ทันจะได้พบเห็นองค์พระบรมศาสดา ก่อนหน้าที่พระบรมศาสดาจะเสด็จมาถึง เมื่อมหาชนทั้งปวงพากันแลดูอยู่ ท่านก็ซัดบาตรอันเต็มไปด้วยภัตตาหารเหนืออากาศ ส่วนท่านก็เหาะขึ้นไปยังห้องนภากาศน้อมบาตรนั้นเข้าไปถวายพระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเสวยอาหารบิณฑบาตนั้น ตกว่าพระกาฬุทายีเถระไปนำเอาภัตตาหารมาจากเรือนหลวงมาถวายแก่พระผู้มีพระภาค อันเสด็จพุทธดำเนินไปวันละโยชน์นั้นทุกวัน จนล่วงมรคาได้ ๖๐ โยชน์ ตราบเท่าบรรลุถึงกรุงกบิลพัสดุ์
            ครั้นเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ก็เสด็จไปเที่ยวทรงบิณฑบาตเป็นสัปทานจาริกลำดับตรอกโดยพุทธประเพณี ในเพลาเช้า พระเจ้าสุทโธทนก็เสด็จไปสู่ระหว่างราชวิถี จึงตรัสห้ามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อย่าได้กระทำอย่างนี้อีกเลยกิริยาที่ว่ากระทำดังนี้จะได้เป็นราชประเพณีวงศ์กษัตริย์หามิได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรมหาบพิตรวงศ์อันนี้จะเป็นประเพณีวงศ์ของพระองค์หามิได้ เป็นวงศ์ของตถาคตต่างหาก มีพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้แล้ว จึงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนา ด้วยบาทพระคาถามีความว่า บุคคลอย่าพึงประมาทในกิริยาอันลุกขึ้นแล้วรับก้อนภัตตาหารแทบประตูเรือนแห่งบุคคลอื่นเลย บุคคลผู้ประพฤติธรรมเป็นสุจริตนั้นได้ชื่อว่า นอนเป็นสุขในอิธโลกและปรโลกเบื้องหน้า ประการหนึ่ง บุคคลพึงประพฤติธรรมให้เป็นสุจริตแล้ว อย่าพึงประพฤติธรรมที่เป็นทุจริต บุคคลผู้มีปรกติประพฤติสุจริตธรรมนั้น ได้ชื่อว่านอนเป็นสุขในอิธโลกและปรโลก
            ลำดับนั้น พระพุทธบิดาก็ได้ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลเป็นพระอริยบุคคลอันพิเศษในพระพุทธศาสนาลำดับนั้น พระเจ้าสุทโธทนจึงตรัสอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประธานให้กระทำภัตตกิจเสวยพระกระยาหารในพระราชมณเฑียรสถาน ครั้นสำเร็จภัตตกิจแล้วก็ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนา กับด้วยบริวารก็ได้ดำรงอยู่ในพระอนาคามิผล ในกาลต่อมาพระพุทธบิดาเสด็จบรรทมอยู่เหนือพระแท่นภายใต้มหาเศวตฉัตร ก็ได้บรรลุพระอรหัตดับขันธ์ปรินิพพาน
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็เสด็จไปสู่ปราสาทพระพิมพาราชเทวี ตรัสแสดงพระธรรมเทศนา บรรเทาเสียซึ่งความโศกแห่งพระพิมพายโสธราเทวี แล้วยังความเลื่อมใสให้บังเกิดแก่พระนางพิมพา ด้วยตรัสเทศนาจันทกินนรีชาดก แล้วพระองค์ก็เสด็จไปสู่นิโครธารามมหาวิหาร
            ลำดับนั้น พระนางพิมพายโสธราราชเทวี จึงมีพระเสาวนีย์ตรัสแก่พระราหุลดรุณกุมาร บวรปิโยรสว่า พ่อจงไปสู่สำนักพระบิดาแห่งเจ้าแล้ว จงกราบทูลขอพระราชทรัพย์ซึ่งเป็นของพระบิดาเถิด
            ลำดับนั้น พระราหุลกุมารก็ไปสู่สำนักสมเด็จพระบิดาแล้วกราบทูลว่า พระองค์จงพระราชทานทรัพย์มรดกให้หม่อมฉันเฉิด แล้วจึงว่าชนคือ ความเป็นสมณะแห่งพระองค์นี้เป็นสุขอยู่ หรือพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกร ราหุล เจ้าจงรับเอาทรัพย์มรดกอันเป็นโลกกุตระเถิด ตรัสแล้วก็ยังพระราหุลกุมาร ให้ทรงบรรพชาเป็นสามเณร
            ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จประทับนั่ง ณ ท่ามกลางพระอริยคณะสงฆ์ ทรงตั้งพระกาฬุทายีเถระ ไว้ในเอตทัคคฐาน ที่อันเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างยังตระกูลให้เลื่อมใส
            ส่วนว่าพระกาฬุทายีนั้น เมื่อมีชนมายุสังขารอยู่ถ้วนการปริเฉทแล้ว ท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานด้วยนิพพานธาตุ ดับกรรมชรูปและวิบากขันธ์สิ้นเสร็จหาเศษซึ่งเป็นเชื้อเหลืออยู่มิได้ เป็นอนุปาทิเสสปรินิพพาน เปรียบประหนึ่งว่าเปลวประทีปอันสิ้นไส้สิ้นน้ำมันแล้วและดับฉะนั้น

พระอิสีติมหาสาวก อ่านหน้าต่อไป==>>next

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ภาพงานบุญ










india2553

dj100.25พาเที่ยวอินเดีย



หลวงพ่อพุทธเมตตาที่พุทธคยา

DSC08813 



 
Design by Wordpress Templates | Bloggerized by Free Blogger Templates | Web Hosting Comparisons